ฟังคุณด้วยใจ โทร. 02-113-6789 เวลา 12:00-22:00 น.

สิทธิที่จะตาย: Right to die

สิทธิที่จะตาย  :  Right to die 

โดย Sophy 

ความตาย คือสัจธรรมของชีวิตที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติหนึ่งในกระบวนการของชีวิต คือ การเกิด แก่ เจ็บ และ การตาย เรายอมรับโดยทั่วไปว่าเรามีสิทธิในชีวิต ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิโดยธรรมชาติ (natural right) เราย่อมมีสิทธิที่จะสามารถดำรงชีวิตของตนให้มีชีวิตดำเนินอยู่ได้ แล้วเรามีสิทธิที่จะตายหรือไม่? การมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการกระบวนการชีวิตเฉกเช่นเดียวกับการตาย สิทธิที่จะตายจึงควรเป็นหนึ่งของสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในการดำรงชีพเราย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล และเนื่องจากในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก รวมถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้รักษาและช่วยยืดชีวิตให้มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าในอดีต แต่กระนั้นมนุษย์ก็ต้องประสบกับความตายอยู่นั่นเอง บางครั้งอาจเกิดคำถามขึ้นว่าวิธีการและเทคโนโลยีดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยเกินไปหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการเหนี่ยวรั้งชีวิตที่อาจดูเหมือนเป็นการฝืนธรรมชาติจนเกินไป และซ้ำยังเป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตจนเกินควรหรือไม่ จึงเกิดเป็นปัญหาว่าเรามีสิทธิที่จะตายได้หรือไม่ เลือกที่จะเร่งรัดกระบวนการชีวิตให้จบลงก่อนกำหนดเวลา หรือ เลือกที่จะตายอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังคงเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

          ในทางการแพทย์ มักเผชิญกับปัญหาเรื่องสิทธิที่จะตายอยู่บ่อยครั้งในกรณีของผู้ป่วยที่สิ้นหวังจากการรักษา หรืออยู่ในสภาวะใกล้ตาย รู้จักกันในคำเรียกว่า เมตตามรณะ หรือ ยูทานาเซีย (Euthanasia) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง การตายที่ดี (good death) หรือ การตายอย่างสงบ ทว่าการกระทำเช่นนี้เป็นทางสองแพร่งอาจถูกมองได้ว่าเป็น การฆ่า ไม่ว่า จะเป็นการฆ่าตัวตาย การฆ่าผู้อื่น หรือ ช่วยเหลือให้ตาย ล้วนแต่นำมาซึ่งความขัดแย้งในตนเอง 

            ปรัชญาด้านการแพทย์ กล่าวว่า แพทย์มีหน้าที่จะต้องกระทำทุกอย่างเต็มความสามารถเพื่อที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วย แพทย์ไม่มีหน้าที่ยุติชีวิตหรือมอบความตายแก่ใคร แต่เราไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าคนเราทุกคนเกิดมาต้องตาย การที่แพทย์พยายามเหนี่ยวรั้งชีวิตไม่ให้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีเมื่อความตายมาถึง เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ 

            ในมุมมองทางด้านศาสนาคริสต์ อิสลาม และ พุทธ เห็นว่า การฆ่าเป็นบาป คริสต์ศาสนามีหลักคำสอนและความเชื่อว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งพระเจ้าประทานมา ชีวิตและความตายของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพระเจ้า มนุษย์แต่ละคนเป็นสมบัติของพระเจ้า มนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดความตายหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการขัดพระประสงค์ของพระเจ้า และในบัญญัติสิบประการข้อ 6 กล่าวว่า “ห้ามฆ่า” สันตะปาปา Pisus ที่สิบสอง ให้ความคิดเห็นที่เป็นการยืดหยุ่นในหลักเกณฑ์ที่จะปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่สิ้นหวัง และมีชีวิตอยู่โดยใช้เครื่องช่วยหายใจที่จะมีสิทธิถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้บางกรณี หลังจากที่บาทหลวงประกอบพิธีทางศาสนาครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้ว แต่การกระทำนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และยินยอมในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ศาสนจักร และกฎหมาย เป็นต้น  

ศาสนาอิสลาม เชื่อและยอมรับในการมีอยู่ของพระเจ้าเช่นเดียวกับคริสต์ศาสนา ว่ามนุษย์เกิดขึ้นเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า มนุษย์มีหน้าที่กระทำตามพระสงค์ของพระองค์ 

ศาสนาพุทธ มีศีลข้อ 1 คือ “เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” การฆ่าจึงเป็นบาป พุทธศาสนามองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องประสบ เราไม่ควรหวาดกลัววิตก หรือพยายามหลีกเลี่ยงความตายเมื่อถึงเวลา ความตายเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นตามกำหนดเวลา เราควรเจริญมรณานุสติ คือ ตั้งมั่นมีสติเตรียมพร้อมที่จะเผชิญความตายอยู่เสมอ 

        เราเรียกร้องขอความตายสืบเนื่องด้วยเหตุผลใดบ้างนั้นมีอยู่หลากหลายแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของแต่ละคน และใครควรมีสิทธิที่จะตัดสินกำหนดว่าควรตายหรือไม่ควรตาย David Cundiff ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอสปิส แคร์ (Hospice care) กล่าวว่า คนกลัวความเจ็บปวดยิ่งกว่ากลัวความตาย” ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกอยากตายเพื่อหนีให้พ้นความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยของโรคภัยไข้เจ็บที่ใม่มีทางหาย และร้องขอความตายจากแพทย์ ให้ช่วยทำให้เขาตาย เช่น ฉีดยาให้เขาเสียชีวิต เพื่อที่จะไม่ต้องทนเจ็บปวดอีกต่อไป กรณีนี้การที่แพทย์ จะตอบสนองต่อความปรารถนาของผู้ป่วยโดยตรงนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เนื่องด้วยขัดกับจรรยาบรรณของแพทย์ นอกจากกรณีที่กล่าวมาแล้ว เหตุผลการร้องขอที่จะตาย ยังรวมถึง การทุกข์ทรมานด้วยวิธีการรักษาพยาบาล การรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังคิดว่าตนเองขาดความสามารถ ไม่มีคุณค่าในชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นอีก รู้สึกว่าตนเป็นภาระแก่ครอบครัวและญาติ ปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งคิดว่าเป็นการสูญเปล่าถึงอย่างไรก็ไม่มีโอกาสหาย และในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพของพืชผักไร้วิญญาณอยู่ได้ด้วยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ และกรณีที่ผู้ป่วยขอยุติหรือปฏิเสธการรักษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พิเศษก่อให้เกิดความเจ็บปวด ขอที่จะตายอย่างสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่มีเครื่องมือแพทย์สายห้อยระโยงระยางทั้งตัวเหมือนไม่ใช่มนุษย์แต่ดูเหมือนเป็นเครื่องจักรกลมากกว่า  

            การร้องขอความตายจะเป็นไปได้หรือไม่ ใครมีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกตายนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ กฎระเบียบของแต่ละสังคม การตัดสินใจนั้นควรเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับอากาารเจ็บไข้ของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก คือ ตัวของผู้ป่วย ครอบรัวและญาติ และบุคลากรด้านการแพทย์ที่รักษาดูแลผู้ป่วย หรือควรจะเป็นการตัดสินใจโดยตัวผู้ป่วยเอง ทำไมไม่เป็นผู้ป่วยโดยลำพัง ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพไม่รับรู้แล้ว คงไม่สามารตอบได้ว่าขณะนั้นเขามีความต้องการอย่างไรบ้าง หรืออย่างในกรณีที่ป่วยมีอาการทางจิตด้วยเราจะเชื่อถือการร้องขอได้เพียงใด ว่านั่นเป็นความต้องการที่แท้จริง ในกรณีที่ผู้ป่วยยังสามารถรับรู้ได้และบอกถึงความต้องการได้ ถึงอย่างไรย่อมต้องพิจารณาว่าความประสงค์ขอตายนั้นไม่เป็นเพียงแค่อารมณ์ที่สิ้นหวัง หดหู่ ท้อแท้ มิเช่นนั้น ถ้าคนเรารู้สึกท้อแท้ หดหู่ เสียใจ จากสาเหตุอื่นที่มิใช่จากอาการเจ็บป่วยแล้ว เช่น ผิดหวังจาความรัก ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็สามารถยินยอมให้เขาเหล่านั้นตายได้หรือ เราสามารถหาทางออกอื่นได้หรือไม่ การดูแลรักษาพยาบาลด้วยความใส่ใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้ว่าชีวิตยังมีคุณค่าต่อผู้อื่น เช่น ครอบครัว การให้ผู้ป่วยได้พูดระบายความรู้สึกออกมา เพียงแค่นี้เขาเหล่านั้นอาจเปลี่ยนใจไม่อยากตายจริงก็ได้ และการดูแลผู้ป่วยที่สิ้นหวังตามหลักการฮอสปิส แคร์ (Hospice care) ซึ่งเป็นการดูแลรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตให้ได้รับการบรรเทาความทุกข์ทรมานทางกาย มีความสะดวกสบายทางสิ่งแวดล้อม และตอบสนองทางจิตวิญญาณตามที่ผู้ป่วยประสงค์ เอาใจใส่ดูแลรักษาแบบองค์รวมและเอื้ออาทรแก่ครอบครัวผู้ป่วยซึ่งก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่เหมาะสม 

            เมื่อจะมุ่งพิจารณา คำว่า สิทธิ แล้วนั้น เรายอมรับอย่างสากลว่ามนุษย์มีสิทธิโดยธรรมชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 3 กล่าวว่า “คนทุกคนมีสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตน” นอกจากสิทธิอันชอบธรรมของมนุษย์ที่มีโดยธรรมชาติติดตัวมาแต่เกิด (Human rights or Natural rights) แล้ว ยังมีสิทธิที่เป็นกฎที่มนุษย์กำหนดขึ้นภายหลัง (Legal right) แต่คำว่า “สิทธิ” เองนั้น ยังเป็นคำที่คลุมเครือ มีนิยามไม่ชัดเจน ไม่มีนิยามใดที่จะสามารถอธิบายความหมายของคำว่า “สิทธิ” ได้ครอบคลุมทุกโอกาสและทุกสถานการณ์ เพราะเหตุใด 

            หากเราเชื่อว่าเรามีร่างกายเป็นของตนเองเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะทำอะไรก็ได้กับร่างนั้น แม้แต่จะพรากชีวิตของตนเอง เราเลือกเกิดไม่ได้และเราจะเลือกตายได้หรือ ทว่าการที่เราพยายามเหนี่ยวรั้งชีวิตจนเกินไปเมื่อความตายมาเยือนเท่ากับว่าเราเลือกไม่ตายได้อย่างไร และเมื่อเราเชื่อว่าเรามีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่ว่าสิทธิของเรานั้นไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ฉะนั้นเรามีสิทธิจริงๆอย่างเต็มที่หรือไม่ โดยสามัญสำนึกทั่วไปเราเชื่อว่าเรามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้แต่จะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน การกระทำที่เป็นการละเมิดความสงบสุขแก่ส่วนรวม การกระทำนั้นควรหลีกเลี่ยงหรือห้ามกระทำได้ แต่ส่วนรวมก็ละเมิดสิทธิของเราเช่นกัน และความตายที่ถูกมองว่าเป็นอันตราย ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำ การกระทำที่จะนำมาสู่หนทางความตาย ผู้อื่นย่อมมีสิทธิจะแทรกแซงการกระทำนั้นได้ แต่ความตายเป็นสิ่งน่ากลัวนำมาซึ่งอันตราย ทำให้เสียโอกาสไม่เป็นผลดีอย่างนั้นจริงหรือ เราควรให้น้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างไรดี 

            เรื่องประเด็นสิทธิที่จะตายนั้นยังเป็นประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เมื่อย้อนมองดูในสังคมไทยคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากเนื่องจากเป็นเมืองพุทธศาสนา การกระทำใดที่จะนำไปสู่ความตายเป็นสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึก ความเชื่อของคนในสังคมทั่วไป และยังเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรับรอง และการฆ่าตัวตายในกฎหมายไทยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สิทธิที่จะตายควรเป็นสิทธิที่พึงมี เนื่องด้วย “ความตาย” เป็นสัจธรรมที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ “สิทธิที่จะเลือกตาย” อย่างไรนั้น ควรมีข้อจำกัด ทั้งนี้และทั้งนั้นสามารถเลือกในกรณีใดบ้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องคำนึงถึงคุณภาพ คุณค่า ของชีวิตและเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ และควรตั้งคำถามว่า การตาย เป็นทางออกที่ดีอย่างเดียวหรือ มีทางออกอื่นอีกหรือไม่ และเมื่อต้องอยู่ในภาวะเผชิญกับความตาย ควรมีสติและยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต. 

Skills

Posted on

10/06/2015